ความดันภายในหลอดเลือดนี้จะมีอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ขณะที่หัวใจกำลังคลายตัวก็ตาม เพราะการไหลเวียนของเลือดต้องมีอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นความดันในหลอดเลือดจึงมีอยู่ตลอดเวลา
การทำงานของหัวใจคล้ายก๊อก หรือปั๊มน้ำ คอยสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย เมื่อเลือดไหลแรงดี ความดันก็จะดีด้วย แต่หากหัวใจบีบตัวไม่ดี เลือดไหลอ่อน ความดันก็จะลดลง นอกจากนั้นแล้วความดันในหลอดเลือดยังขึ้นกับสภาพของหลอดเลือดด้วย หากหลอดเลือดมีความยืดหยุ่นดี จะปรับความดันได้ดีไม่ให้สูงเกินไป แต่หากหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่น หรือแข็งตัว ก็จะทำให้ความดันเปลี่ยนแปลงไปด้วย
สาเหตุ
- ปัจจัยของความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่มาจากขบวนการที่เกิดจากความเครียดที่ต้องผจญอยู่เป็นประจำ ส่วนน้อยที่เกิดจากความผิดปกติภายในร่างกายที่สามารถที่จะแก้ไขได้ และหายเป็นปกติ
- หากท่านมีความดันโลหิตสูง ควรที่จะปรึกษาแพทย์ทันที เพราะอาจหาสาเหตุ และรักษาให้หายขาดได้
- ส่วนใหญ่ของผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมักจะไม่ทราบสาเหตุที่เป็นรูปธรรม ต้องมาสนใจกับนามธรรม คือ ความเครียด
โรคความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่มีความสำคัญมากชนิดหนึ่ง ปัจจุบันมีคนจำนวนมากที่เป็นโรคนี้ ส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมความดันโลหิตที่สูงให้กลับมาสู่ระดับปกติได้ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาในการรักษา และเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เส้นเลือดในสมองแตกทำให้เกิดอัมพาต เป็นต้น
ความดันโลหิตสูงปลอม
ภาวะความดันโลหิตสูงปลอม หมายความว่าจริงๆ แล้วผู้ป่วยไม่ได้มีความดันโลหิตสูง แต่ด้วยเหตุผลใดไม่ทราบ เมื่อมาวัดความดันโลหิตด้วย เครื่องวัดความดัน ที่คลินิกแพทย์หรือโรงพยาบาล จะวัดได้สูงกว่าปกติทุกครั้ง แต่เมื่อวัดโดยเครื่องวัดความดันโลหิต 24 ชั่วโมง หรือวัดด้วยเครื่องอิเลคโทรนิคเองที่บ้าน กลับพบว่าความดันปกติ เรียกภาวะเช่นนี้ว่า white coat hypertension หรือ isolated clinic hypertension กลุ่มนี้มีอันตรายน้อยกว่าความดันโลหิตสูงจริงๆ
การรักษา
- การลดความดันโลหิตโดยธรรมชาติก่อนที่จะต้องใช้ยาลดความดัน ได้แก่ การควบคุมน้ำหนัก การควบคุมอาหารโดยเฉพาะการลดอาหารเค็ม และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่อนคลายความเครียดจากปัญหาต่างๆ
- กิจกรรมที่ทำให้เกิดการผ่อนคลายความเครียดจากปัญหาต่างๆ ได้ดี คือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง ซึ่งนอกจากความเครียดจะหายไปแล้ว การออกกำลังกายจะมีผลต่อความแข็งแรงของหัวใจ และระบบการไหลเวียนของโลหิตอีกด้วย ผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ แม้ขณะพักอยู่หัวใจก็จะเต้นเร็ว ซึ่งเราจะพูดกันติดปากว่าไม่ฟิต ตรงกันข้ามกับผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ชีพจรจะเต้นช้ากว่า และเมื่อออกกำลังกายหัวใจเต้นเร็วขึ้น แต่ก็จะกลับลงสู่ปกติได้โดยเร็ว
- การออกกำลังกายที่เหมาะสมในวัยต่างๆ การออกกำลังกายที่เหมาะสมจะช่วยดับความเครียดของท่านลงได้ ความดันโลหิตสูงก็จะลดลงไปด้วย โรคหัวใจก็จะได้ไม่ย่างกรายมาสู่ท่าน
- ในผู้สูงอายุ มักจะตรวจพบภาวะความดันโลหิตสูงชนิดซิสโตลิก (isolated systolic hypertension, ISH) หมายถึง ความดันตัวบนสูงเพียงค่าเดียว ในขณะที่ความดันตัวล่างไม่สูง จากการสำรวจพบได้บ่อยกว่าร้อยละ 20 ของผู้สูงอายุ และเป็นสาเหตุสำคัญของโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา รวมทั้งโรคหัวใจโต ซึ่งเป็นปัจจัยบ่งชี้ที่สำคัญในการทำนายว่าผู้ป่วยมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบหัวใจ และการไหลเวียนโลหิตมากกว่าบุคคลทั่วไป
- การรักษาด้วยยาลดความดันโลหิต สามารถลดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา และหัวใจโตได้ และยังช่วยลดอัตราการเกิดอัมพาต และภาวะหัวใจล้มเหลว
เครื่องวัดความดันโลหิต
- เครื่องวัดความดัน ที่เป็นมาตราฐาน ประกอบด้วยผ้าที่มีถุงลมพันที่แขน และใช้ปรอทแสดงค่าความดันที่วัดได้ ในขณะวัดความดันโลหิต ผู้ถูกวัดความดันโลหิตควรจะอยู่ในท่านั่งสบายๆ วัดหลังจากนั่งพักแล้ว 5 นาที และไม่วัดหลังจากดื่มกาแฟ หรือสูบบุหรี่
- ขนาดของผ้าพันแขนต้องมีขนาดเหมาะสมกับแขนผู้ถูกวัดด้วย หากอ้วนมากแล้วใช้ผ้าพันแขนขนาดปกติ ค่าที่ได้จะสูงกว่าความเป็นจริง
- การปล่อยลมออกจากที่พันแขนมีความสำคัญอย่างมาก ต้องปล่อยลมออกช้าๆ มิฉะนั้นจะทำให้ได้ค่าที่ผิดไปจากความเป็นจริงมาก
- เครื่องวัดความดันก็ต้องได้มาตราฐาน ไม่ใช่เครื่องเก่ามากหรือมีลมรั่ว เป็นต้น
- ตำแหน่งของ เครื่องวัดความดัน ก็ควรอยู่ระดับเดียวกับหัวใจ และต้องวัดซ้ำๆ เพื่อหาค่าเฉลี่ย
- ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ออกแบบมาให้วัดความดันโลหิตได้ง่าย และสะดวกขึ้น โดยผู้วัดไม่จำเป็นต้องมีความรู้เลย เพียงแค่ใส่ถ่าน พันแขน และกดปุ่ม เครื่องวัดความดัน จะวัดให้เสร็จ อ่านค่าเป็นตัวเลข เครื่องแบบนี้มีขายตามศูนย์การค้าทั่วไป โดยทั่วไปแล้วใช้งานได้ดี แต่ก็ต้องนำเครื่องมาตรวจสอบความถูกต้องเป็นครั้งคราว ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงควรมีเครื่องชนิดนี้ไว้วัดที่บ้านด้วย
- ในอนาคตอาจจะเลิกใช้เครื่องวัดความดันโลหิตแบบปรอท ส่วนหนึ่งเนื่องจากผลทางสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปรอทเป็นสารที่อันตราย และอีกเหตุผลหนึ่ง คือใช้เทคนิคมากในการวัดให้ถูกต้อง
การวัดความดันโลหิตตลอด 24 ชั่วโมง
ปัจจุบันพบว่าการวัดความดันโลหิตที่ดีที่สุดคือ การวัดความดันโลหิตตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งขณะหลับ และตื่น เพื่อดูแบบแผนว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และหาค่าเฉลี่ยความดันโลหิตของช่วงกลางวัน และกลางคืน ค่าที่ถือว่าปกติโดยการวัดความดันโลหิต 24 ชั่วโมงนี้ คือ ขณะตื่นความดันโลหิตเฉลี่ยควรน้อยกว่า 135/85 มิลลิเมตรปรอท และเมื่อหลับความดันโลหิตเฉลี่ยควรน้อยกว่า 120/75 มิลลิเมตรปรอท
เตรียมพร้อมก่อนวัดความดันโลหิต
- ใส่เสื้อผ้าหลวมๆ
- นั่งพักผ่อนอย่างน้อย 5 นาที
- ถ้าใส่เสื้อแขนยาวห้ามม้วนจนรัดต้นแขน เพราะจะทำให้ เครื่องวัดความดัน วัดได้ค่าต่ำกว่าปกติ
- ผ้าที่พันต้องใช้ขนาดที่เหมาะสมกับแขนผู้ป่วย
- ไม่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ชา กาแฟ ก่อนวัดความดันโลหิต 30 นาที
- ไม่รับประทานยากระตุ้นระบบประสาท เช่น ยาลดน้ำมูก ยาขยายรูม่านตาเป็นต้น
- ถ้าปวดปัสสาวะ ให้ไปเข้าห้องน้ำเพื่อถ่ายปัสสาวะเสียก่อน
เทคนิกการวัดความดันโลหิตที่ผิดพลาด
- ตำแหน่งของเส้นเลือดที่ทำวัดความดันโลหิตไม่อยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ
- ปล่อยลมออกจากผ้าพันแขนเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป อัตราที่เหมาะสม คือ 2 มิลมิเมตรปรอทต่อจังหวะหัวใจเต้นหนึ่งครั้ง
- ความดันโลหิตที่วัดครั้งแรกมักจะสูงกว่าความเป็นจริง จากการศึกษาวิจัยพบว่าค่าความดันโลหิตที่ได้จากการวัดครั้งที่ 3 มีความแม่นยำถูกต้องมากที่สุด
- รัดผ้าพันแขนแน่นหรือหลวมเกินไป ทำให้ค่าที่ได้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
ความผิดพลาดที่เกิดจากเครื่องมือ
- ลิ้นควบคุมการปล่อยลมขัดข้อง
- ท่อเชื่อมหน้ากากแสดงค่าสกปรก
- การใช้เครื่องวัดความดันโลหิตชนิดอะนีรอยด์ ต้องตรวจเช็คกับเครื่องที่ตั้งเป็นมาตราฐานด้วย
- เข็มชี้ไม่อยู่ที่ค่าศูนย์
หน่วยวัดความดันโลหิต
ค่าความดันโลหิตเราวัดด้วย เครื่องวัดความดัน เป็นหน่วยมิลลิเมตรปรอท และจะบอกค่าเป็น 2 ตัวเลขเสมอ ตัวเลขสูงกว่าหรือบางทีเรียกว่าความดันตัวบน (systolic pressure) จะเป็นความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัว และตัวเลขที่ต่ำกว่าหรือบางทีเรียกว่าความดันตัวล่าง (diastolic pressure) จะเป็นความดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัว
การวัดความดันโลหิตจะต้องบันทึกค่าที่ได้ทั้งสองค่าเสมอ ทั้งค่าความดันตัวบน และค่าความดันตัวล่างมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน บางครั้งพบว่าผู้วัดความดันโลหิตให้ความสำคัญกับค่าความดันตัวบนเพียงอย่างเดียว
ค่าความดันปกติ
- ค่าความดันโลหิตปกติของผู้ใหญ่โดยทั่วไป ถือว่าค่าความดันตัวบนไม่เกิน 140 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันตัวล่างไม่เกิน 90 มิลลิเมตรปรอท
- ความดันโลหิตที่ “อยู่ในเกณฑ์ปกติ” คือ ต่ำกว่า 130/85 มม.ปรอท ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 130-139/85-89 มม.ปรอท และจะเรียกได้ว่ามีความดันโลหิตสูงเมื่อ ความดันโลหิตตัวบนมากกว่า (หรือเท่ากับ) 140 และตัวล่างมากกว่า (หรือเท่ากับ) 90 มม.ปรอท
- ก่อนที่จะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูง แพทย์จะต้องวัดซ้ำหลายๆ ครั้ง หลังจากให้ผู้ป่วยพักแล้ว วัดซ้ำจนกว่าจะแน่ใจว่าสูงจริง และเทคนิคการวัดความดันโลหิตต้องกระทำให้ถูกต้องครบถ้วน
- ความดันโลหิตเป็นค่าไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทุกวินาที การวัดซ้ำในเวลาที่ใกล้เคียงกันอาจได้คนละค่า แต่ก็จะไม่ควรจะแตกต่างกันนัก
- ความดันโลหิตขึ้นกับท่าของผู้ถูกวัดด้วย ท่านอนความดันโลหิตมักจะสูงกว่าท่ายืน
- นอกจากนั้นยังขึ้นกับสิ่งกระตุ้นต่างๆ เช่น อาหาร บุหรี่ อากาศ กิจกรรมที่กระทำอยู่ในขณะนั้น รวมทั้งสภาพจิตใจด้วย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
http://healthfood.muslimthaipost.com/main/index.php?page=sub&category=66&id=20068
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น