นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น สังเกตจากช่วงวันที่ 1-11 กันยายน มีโรงงานเปิดใหม่ถึง 181 แห่ง มูลค่าการลงทุน 18,597 ล้านบาท ซึ่งสูงเกินครึ่งหนึ่งของมูลค่าการลงทุนตลอดเดือนสิงหาคม และมีโรงงานขยายกิจการ 42 แห่ง มูลค่าการลงทุน 15,096 ล้านบาท สูงกว่าลงทุนตลอดเดือนสิงหาคมเช่นกัน
นายพสุกล่าวว่า ยอดการตั้งโรงงานใหม่ในเดือนสิงหาคมมี 394 โรงงาน เพิ่มขึ้น 15.54% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่มูลค่าการลงทุน 30,831 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51.57% ส่วนการขยายกิจการในเดือนสิงหาคมมี 92 โรงงาน เพิ่มขึ้น 33.33% ยอดเงินลงทุน 12,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64.45% รวมยอดการตั้งโรงงานใหม่ช่วง 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม) มี 2,878 โรงงาน ลดลง 1.47% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ยอดเงินลงทุนรวม 241,552 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.9% ส่วนยอดขยายกิจการในช่วง 8 เดือน มี 562 โรงงาน เพิ่มขึ้น 7.86% ยอดเงินลงทุนรวม 95,204 ล้านบาท ลดลง 29.92% หากรวมยอดเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการช่วง 8 เดือน มีมูลค่ารวม 336,756 ล้านบาท ลดลง 7.24% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
นายพสุกล่าวว่า สำหรับอุตสาหกรรมที่เปิดกิจการและขยายกิจการที่มีมูลค่ามากที่สุดช่วง 8 เดือน ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารมีมูลค่าการลงทุน 54,286 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม มูลค่าลงทุน 35,158 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ยานพาหนะและชิ้นส่วนมูลค่าลงทุน 28,442 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์โลหะมูลค่าลงทุน 18,578 ล้านบาท
"ยอดเปิดโรงงานและขยายกิจการมีแนวโน้มสูงขึ้นเห็นได้ชัดจากเดือนกันยายนเพียง 11 วัน ที่มีมูลค่าการขยายกิจการสูงกว่าเดือนสิงหาคมทั้งเดือน สาเหตุอาจมาจากผู้ประกอบการมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นหลังจากมีการปรับ ครม.ใหม่ โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ อาทิ การช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน การเพิ่มศักยภาพเอสเอ็มอี การเร่งโครงการต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น" นายพสุกล่าว
นายพสุกล่าวว่า ตลอดปี 2558 คาดว่าจะมียอดเปิดโรงงานและขยายกิจการ 5,000-6,000 แห่ง มูลค่าลงทุนประมาณ 5-6 แสนล้านบาท ถือว่ากลับสู่ภาวะปกติของยอดเปิดและขยายกิจการในแต่ละปี และคาดว่าในปี 2559 ยอดเปิดกิจการและขยายกิจการจะมีแนวโน้มสูงขึ้น 5-10% เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ผู้ประกอบการเชื่อมั่นรัฐบาล ผู้ประกอบการต่างชาติยังคงยืนยันว่าจะไม่ย้ายฐานการผลิต เพราะยังเชื่อมั่นว่าประเทศไทยยังเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในอาเซียนต่อไป
นายพสุกล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.จดทะเบียนเครื่องจักร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 สาระสำคัญ คือ ให้เอกชนเป็นผู้ตรวจสอบเครื่องจักรที่จะจดทะเบียนกรรมสิทธิ์แทนพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ เพื่อความสะดวกรวดเร็วขึ้น รวมถึงยกเลิกการแจ้งย้ายเครื่องจักรภายในบริเวณสถานที่ประกอบกิจการ โดยไม่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เหมือนอดีต รวมทั้งให้อำนาจรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมให้เป็น 0 บาทได้ จากเดิมมีอำนาจเพียงลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเครื่องจักรเท่านั้น การยกเว้นค่าธรรมเนียมเพื่อช่วยลดภาระการเงินกับเจ้าของเครื่องจักรในกรณีสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ปกติ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1442236056
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น