ความดันโลหิต คืออะไร
ความดันโลหิต เป็นแรงดันเลือดที่เกิดจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ซึ่งวัดได้ด้วย เครื่องวัดความดัน โดยจะมีทั้งหมด 2 ค่า คือ
- ความดันโลหิตค่าบน คือ แรงดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัว
- ความดันโลหิตค่าล่าง คือแรงดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัว
ในคนปกติ ความดันโลหิต ไม่ควรเกิน 130/85 มิลลิเมตรปรอท (จากการประชุมร่วมขององค์การอนามัยโลก และ International Society of Hypertension ปี 1999)
ส่วนความรุนแรงของความดันโลหิตที่สูงนั้น ให้พิจารณาจากค่าความดันตัวบนและความดันตัวล่างทั้งสองค่า โดยถือระดับความดันโลหิตที่สูงกว่าเป็นเกณฑ์ เช่น ความดันโลหิต 150/110 มิลลิเมตรปรอท ความดันตัวบน 150 มิลลิเมตรปรอท จะอยู่ในระดับอ่อน แต่ความดันตัวล่าง 110 มิลลิเมตรปรอท จะอยู่ในระดับรุนแรง
ระบาดวิทยาของโรคความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตสูงเป็นภาวะที่พบบ่อยในประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาจากการเป็นประเทศเกษตรกรรม มาสู่อุตสาหกรรม รวมทั้งประชากรไทยเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตตามประเทศทางตะวันตก ทำให้ภาวะความดันโลหิตสูงมีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ
จากการสำรวจด้วย เครื่องวัดความดัน ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สถาบันวิจัยสาธารณสุขไทย ร่วมกับทางกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการสำรวจสถานะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทย ครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2534-2535 ซึ่งศึกษาในประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 15,125 คน และถือเกณฑ์ความดันโลหิตที่สูงกว่า 160/95 มม.ปรอท พบว่า
- อุบัติการของความดันโลหิตสูงเฉลี่ยทั้งประเทศ 5.4 ต่อประชากร 100 คน
- ความชุกจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น หรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
- ความดันโลหิตสูงพบในหญิง (5.6%) มากกว่าชาย (5.2%) เล็กน้อย
- ภาคกลางเป็นพื้นที่มีความชุกมากที่สุด ประมาณ 3 เท่าของภาคอื่น ๆ
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล จะมีอัตราการเป็นความดันโลหิตสูงมากกว่านอกเขตเทศบาลอย่างชัดเจน และเป็นเช่นเดียวกันทุกภาค
- โดยที่เพศชายในเขตเทศบาล จะมีอัตราการเป็นความดันโลหิตสูง มากกว่านอกเขตเทศบาล ประมาณ 3.5 เท่า และในเพศหญิงเท่ากับ 2.8 เท่า
และที่น่าเป็นห่วง คือ จากกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ พบความดันโลหิตสูง 1,606 ราย (ซึ่งรวมพวกที่มีประวัติความดันโลหิตสูง) มีเพียงร้อยละ 10.2 เท่านั้น ที่ทราบว่าตนเองเป็นความดันโลหิตสูง และร้อยละ 71.3ของผู้ที่ทราบว่ามีภาวะนี้ได้รับการรักษา และร้อยละ 61.5 ของกลุ่มที่ได้รับการรักษามีความดันโลหิตต่ำกว่า 160/95 มม.ปรอท
สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง
มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจะตรวจไม่พบสาเหตุ เชื่อว่าเกิดจาก 2 ปัจจัยใหญ่ คือ
1. กรรมพันธุ์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่แก้ไขไม่ได้ จากหลักฐานทางระบาดวิทยา พบว่าผู้ที่มีบิดาหรือมารดาเป็นความดันโลหิตสูง มีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงได้มากกว่าผู้ที่บิดามารดาไม่เป็น ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่มีทั้งบิดาและมารดาเป็นความดันโลหิตสูง จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นมากที่สุด ผู้สูงอายุก็มีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงเมื่ออายุมากขึ้น ๆ
2. สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยที่แก้ไขได้ เช่น ภาวะอ้วน เบาหวาน การรับประทานอาหารรสเค็ม การดื่มสุรา และการสูบบุหรี่ ภาวะเครียด เป็นต้น
ส่วนความดันโลหิตสูงที่มีสาเหตุพบได้น้อยกว่าร้อยละ 10 ผู้ป่วยในกลุ่มนี้แม้จะพบเป็นจำนวนน้อย แต่ก็มีความสำคัญ เพราะบางโรคอาจรักษาให้หายขาดได้ สาเหตุที่พบบ่อย คือ
- โรคไต
- หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงไตตีบ
- ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด
- หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ออกจากหัวใจตีบ
- เนื้องอกของต่อมหมวกไต
อาการของโรคความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตสูงระดับอ่อน หรือปานกลาง มักจะไม่มีอาการอะไร แต่มีการทำลายอวัยวะต่าง ๆ ไปทีละน้อยอย่างช้า ๆ จนผู้ป่วยเกิดผลแทรกซ้อนในที่สุด เช่น หัวใจล้มเหลว หัวใจขาดเลือด ไตเสื่อมสมรรถภาพ หรืออัมพาต อัมพฤกษ์ ความดันโลหิตโลหิตสูงจึงมักได้รับการขนานนามว่า "ฆาตกรเงียบ"
ความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง ผู้ป่วยอาจเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นได้ เช่น เลือดกำเดาออก ตามองไม่เห็นข้างหนึ่งชั่วคราว เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก เวียนศีรษะ ปวดศีรษะตุบ ๆ เป็นต้น แต่อาการเหล่านี้ไม่จำเพาะ เพราะอาจเกิดจากสาเหตุอื่นก็ได้ เช่น ไข้ เครียด ไมเกรน เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อเกิดอาการผิดปกติ จึงความปรึกษาแพทย์ เพราะถ้าพบความดันโลหิตสูงมากจะได้รักษาได้ถูกต้อง และทันท่วงที ซึ่งเมื่อความดันโลหิตลดลงมาเป็นปกติ อาการดังกล่าวก็จะหายไป
ผลแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูง
ภาวะความดันโลหิตสูงที่เป็นอยู่นาน และไม่ได้รับการรักษา จะทำให้เกิดการทำลายของอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ในร่างกายได้ เช่น หัวใจ สมอง ไต หลอดเลือด และตา เป็นต้น เพราะความดันโลหิตที่สูงที่เป็นอยู่นาน จะทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหนาตัวขึ้น และรูเล็กลง ทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ลดลง ส่งผลให้อวัยวะเหล่านี้ทำงานได้ไม่เป็นปกติ และหากทำลายรุนแรงมากพอ อาจทำให้ถึงแก่กรรมได้
ระยะเวลาที่เป็นความดันโลหิตสูง จนเกิดผลร้ายดังกล่าว จะขึ้นอยู่กับระดับความดันโลหิต เช่น ระดับอ่อน และปานกลาง จะใช้เวลานานมากกว่า 10 ปี ระดับรุนแรงจะใช้เวลาสั้นกว่านี้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
http://nongnoosupaluk.blogspot.com/p/blog-page.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น