เครื่องวัดความดัน |
สำหรับโรคความดันโลหิตต่ำนั้นโดยทั่วไปผู้คนส่วนใหญ่มักมองข้าม เพราะจะให้ความสำคัญกับโรคความดันโลหิตสูงกันมากกว่า เนื่องจากคิดว่าอันตรายกว่าโรคความดันโลหิตต่ำ แถมคนส่วนใหญ่ก็มักเป็นโรความดันโลหิตสูง ทำให้หลายๆคนพุ่งเป้าเน้นไปที่โรคความดันโลหิตสูงกัน แต่สำหรับโรคความดันโลหิตต่ำนั้นก็เป็นภัยเงียบที่ร้ายแรงและอันตรายไม่แพ้ความดันโลหิตสูงเลยทีเดียว
โรคความดันโลหิตต่ำคืออะไร
โรคความดันโลหิตต่ำ (Hypotension) คือ ภาวะที่ค่าความดันโลหิตต่ำกว่า 90 – 50 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งพบมากในผู้หญิงที่ร่างกายอ่อนแอหรือผู้สูงอายุที่มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นมาก่อน และหากใครที่มีความดันโลหิตต่ำมากๆ จะส่งผลให้เลือดในร่างกายเกิดการไหลเวียนช้าลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ และเกิดลิ่มเลือดได้ง่ายทำให้บริเวณหลอดเลือดเกิดการอุดตันขึ้น
หมั่นตรวจเช็คด้วย เครื่องวัดความดัน อย่างสม่ำเสมอ |
สำหรับโรคความดันโลหิตต่ำนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ ชนิดเรื้อรัง และชนิดเฉียบพลัน โดยความดันโลหิตต่ำชนิดเรื้อรังอาจเป็นมาแต่กำเนิดแบบไม่ทราบสาเหตุ หรือเกิดจากพันธุกรรม รวมทั้งการเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็วก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ตลอดจนการใช้ยาหรือเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ส่วนความดันโลหิตต่ำชนิดเฉียบพลันจะมีความดันลดลงอย่างรวดเร็วกว่าปกติ มักหน้ามืดหรือช็อกจนหมดสติ
สาเหตุของโรคความดันโลหิตต่ำ
สำหรับความดันโลหิตต่ำนี้มักมีสาเหตุจากหลายๆ ปัจจัย โดยความดันต่ำเกิดจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงของปอด หรือลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติเพราะอัตราการส่งเลือดออกจากหัวใจลดลง รวมทั้งหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอ ตลอดจนภาวะขาดน้ำทำให้ปริมาณเลือดในร่างกายลดลง หรือมีการขยายตัวของหลอดเลือดมากเกินปกติเนื่องจากโรคภูมิแพ้ ช็อกจากภาวะติดเชื้อ การใช้ยาบางชนิด และในหญิงตั้งครรภ์ หรือการอยู่ท่ามกลางแสงแดดจัดๆ เป็นต้น
ร่างกายขาดน้ำเป็นอีกสาเหตุของโรคความดันโลหิตต่ำ |
อาการของโรคความดันโลหิตต่ำ
โดยทั่วไปผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตต่ำก็มักไม่มีอาการเช่นเดียวกับโรคความดันโลหิตสูง ส่วนในผู้ที่มีอาการก็เช่น จะรู้สึกเวียนศีรษะง่าย หรือหน้ามืดเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถจากท่าหนึ่งไปเป็นอีกท่าหนึ่ง และมักจะรู้สึกอ่อนเพลียง่ายแม้ว่าได้นอนเต็มอิ่มแล้วก็ตาม หรืออาจหูอื้อ ตาลาย ปวดศีรษะ หลัง หรือบั้นเอว สมองล้า ขี้ลืม ไม่มีสมาธิ และมือเท้าเย็น หรือชักหมดสติ และในบางคนที่มีอาการของโรคความดันโลหิตต่ำมากก็อาจถึงขึ้นเสื่อมสมรรถภาพทางเพศไปเลย
ใช้ เครื่องวัดความดัน ตรวจร่างกายผู้ป่วย |
การวินิจฉัยโรคความดันโลหิตต่ำ
เมื่อไปพบแพทย์แล้วแพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคความดันโลหิตต่ำโดยการใช้ เครื่องวัดความดัน วัดความดันโลหิต ซักประวัติและอาการ รวมทั้งมองถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งอายุ โรคเรื้อรัง การเคยได้รับยาบางชนิด เช่น เบาหวาน หรือยาโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น และการขาดน้ำเนื่องจากอาเจียนรุนแรง หรือท้องเสีย จากนั้นก็อาจเจาะเลือดดูค่าของระดับน้ำตาลในเลือดในกรณีเป็นเบาหวาน หรือตรวจโดยคลื่นไฟฟ้าหัวใจกรณีสงสัยว่าเป็นโรคหัวใจ เป็นต้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นหลัก
การรักษาโรคความดันโลหิตต่ำ
สำหรับการรักษาโรคความดันโลหิตต่ำนั้น แพทย์จะช่วยเพิ่มระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติโดยรักษาตามอาการของสาเหตุที่เกิดโรคความดันโลหิตต่ำ อย่างภาวะขาดน้ำ แพทย์ก็จะรักษาโดยการให้น้ำและเกลือแร่ทางหลอดเลือดดำ หรือหากอยู่ในภาวะขาดเลือดเสียเลือดมากก็จะให้เลือดทดแทนที่เสียไป และเมื่อหลอดเลือดเกิดอาการขยายตัวผิดปกติ แพทย์ก็จะทำการรักษาโรคความดันโลหิตต่ำโดยการให้ยาเพิ่มความดันหรือเพิ่มการบีบตัวของหลอดเลือด ตลอดจนเป็นเบาหวานแพทย์ก็จะปรับยาเบาหวานให้แก่ผู้ป่วยโรคความดันต่ำนี้ เป็นต้น
การรักษาโรคความดันโลหิตอาจต้องใช้ยาช่วย |
การดูแลตนเองหลังการรักษาโรคความดันโลหิตต่ำ
หลังพบแพทย์ทำการรักษาเรียบร้อยแล้วควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด รับประทานยาต่างๆ อย่างถูกต้อง ดื่มน้ำเปล่าให้ได้อย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว รู้จักเคลื่อนไหวร่างกายให้สม่ำเสมอบริหารร่างกายให้เป็นนะคะ โดยเฉพาะเวลาจะเปลี่ยนอิริยาบถไม่ว่าจะเป็นท่าใดก็แล้วแต่ให้ค่อยๆ ทำหรือเปลี่ยนอย่างช้าๆ ไม่ควรรีบเปลี่ยนอิริยาบถเพราะจะทำให้หน้ามืดเป็นลมล้มลงได้ง่ายๆ รวมทั้งไม่ยืนหรือนั่งไขว้ห้างเป็นเวลานาน ตลอดจนรับประทานอาหารในปริมาณพอเหมาะแก่ร่างกาย และหากอาการไม่ดีขึ้นหรือเกิดเจ็บแน่นหน้าอกขึ้นมาให้รีบกลับไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอีกครั้งโดยเร็วนะคะ
การป้องกันโรคความดันโลหิตต่ำ
- ระมัดระวังในการใช้ยา หลีกเลี่ยงการซื้อยามารับประทานเอง
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวันอย่างน้อยวันละประมาณ 6 – 8 แก้ว เป็นประจำสม่ำเสมอ
- ทำการรักษาโรคต่างๆ ที่เป็นสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะโรคความดันโลหิตต่ำ
- เปลี่ยนท่าหรืออิริยาบถต่างๆ ให้ช้าลง
- ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ และเลือกประเภทการออกกำลังกายให้เหมาะสมแก่ร่างกายตนเอง
- รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่
การดื่มน้ำให้เพียงพอ 6-8 แก้วต่อวัน จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคความดันโลหิตต่ำได้ |
ดังนั้น การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงนั้นนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เพราะการไม่มีโรค…เป็นลาภอันประเสริฐจริงๆ ต่อให้มีเงินทองมากขนาดไหนหากร่างกายอ่อนแอเจ็บป่วยบ่อยก็คงไม่มีความสุข ฉะนั้นเราต้องรู้เท่าทันโรคต่างๆ ที่เกิดกับเราให้ดี หมั่นดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรงไม่ให้โรคต่างๆเข้ามากล้ำกราย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
http://www.xn--12cg1cxchd0a2gzc1c5d5a.net/โรคความดันโลหิตต่ำ/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น