Pocket WiFi

Pocket WiFi
Pocket WiFi แชร์เน็ทแรงได้ทุกที่ รายรื่นไม่มีสะดุด

เครื่องวัดความดัน

        เครื่องวัดความดัน

วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

โลกตะลึงอีกครั้งเหตุการณ์ ศุกร์ 13 กับเศษซากยานนาซ่า?

ศุกร์ 13
โลกตะลึงอีกครั้งเหตุการณ์ ศุกร์ 13 กับเศษซากยานนาซ่า?

เมื่อใดที่ปรากฏว่าวันที่ 13 ในแต่ละเดือน เกิดไปตรงกับวัน ศุกร์ 13 ตามความเชื่อของชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก จะเชื่อกันว่า ถือเป็นวันแห่งความโชคร้าย เนื่องจากวันดังกล่าว เป็นวันที่พระเยซู สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน แต่ในวัน ศุกร์ 13 พ.ย. พ.ศ.2558 นี้ ออกจะพิเศษกว่าศุกร์ 13 ที่ผ่านๆ มา เพราะจะมีเหตุการณ์ที่ชาวโลกต้องร่วมลุ้นระทึกไปพร้อมๆ กัน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สุดจะบังเอิญอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อจะปรากฏมีวัตถุจากนอกโลก เสี่ยงที่จะพุ่งเข้ามาเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของมนุษยชาติ ซึ่งก็ดันจะไปตรงกับวัน ศุกร์ 13 ซึ่งว่ากันว่าเป็นวันแห่งความโชคร้ายอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อถึงบรรทัดนี้ บรรดาแฟนนานุแฟน ชาวไทยรัฐออนไลน์ คงอยากจะทราบแล้วว่า ปรากฏการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นมันคืออะไรกัน...

และแน่นอน เมื่อใดก็ตามที่โลก จะต้องพบกับปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาด และต้องการคำอธิบายที่ชัดเจนทางวิทยาศาสตร์ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ไม่เคยพลาด หรือรีรอที่จะให้บุรุษผู้เชี่ยวชาญและคร่ำหวอดอยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยมาช้านาน และถือเป็นผู้เชี่ยวชาญ ขาประจำของทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มาให้คำตอบที่ชัดเจนและอธิบายได้ตามหลักของวิทยาศาสตร์ ....ท่านผู้นี้ก็คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล นักเขียน นักแปล คอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุ ผู้คร่ำหวอดในวงการวิทยาศาสตร์ลำดับต้นๆ ของประเทศไทย

เหตุการณ์ลุ้นระทึก และเสี่ยงต่ออันตรายของชาวโลกที่ว่าคืออะไร? นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป มาร่วมรับฟังจากปากนักวิทยาศาสตร์เอกของเมืองไทยผู้นี้ เล่าให้ฟังกัน...

อาจารย์ชัยวัฒน์ เริ่มต้นการสนทนา กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ด้วยคำถามชวนฉงนว่า รู้กันไหม? ...หลังจากนั้นก็ทอดน้ำเสียงเล็กน้อย เพื่อเพิ่มความน่าสนใจในประโยคถัดไปว่า...

ศุกร์ 13
กูรูด้านวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าของไทย

ไขรหัส ลุ้นระทึก ศุกร์ 13 จริงหรือไม่ เศษซากยานนาซา พุ่งชนโลก!

ในวัน ศุกร์ 13 พ.ย. พ.ศ.2558 เวลาประมาณ 13.20 น. ตามเวลาในประเทศไทย จะเกิดปรากฏการณ์ให้ชาวโลกต้องระทึกใจกันอีกครั้ง เนื่องจากจะมีสิ่งที่คาดว่าเป็นเศษชิ้นส่วนขนาดยักษ์ ที่มีขนาดใหญ่ประมาณถึง 2 เมตร น้ำหนักร่วม 2,000 กิโลกรัม ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของจรวดแชตเทิร์น ที่ส่งยานอวกาศขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือนาซา ที่ถูกส่งขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์ หรือโครงการอพอลโล ตั้งแต่ระหว่างปี ค.ศ.1969 - ค.ศ.1972 ซึ่งล่องลอยกลายเป็นขยะ โคจรอยู่ในอวกาศ ช่วงระหว่างโลก และดวงจันทร์ มานานร่วม 46 ปี จะถูกแรงดึงดูดของโลก พุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ จนกลายเป็นไฟร์บอล หรือลูกไฟที่เสียดสีกับชั้นบรรยากาศแล้วเกิดการลุกไหม้ จนทำให้ชาวโลกสีน้ำเงิน สามารถแลเห็นได้อย่างถนัดถนี่...

แล้วมันจะทำให้เกิดอันตราย หรือสร้างความเสียหายให้กับชาวโลก หรือไม่? ทีมข่าวรีบถามโดยพลัน ทั้งที่ๆ อาจารย์ชัยวัฒน์ ยังไม่ทันสิ้นเสียงที่กำลังบอกเล่าอย่างออกรส...

ยังโชคดี พุ่งลงมหาสมุทร และส่วนใหญ่หรือทั้งหมดจะเผาไหม้เป็นลูกไฟในบรรยากาศก่อนตกสู่ผิวโลก แต่หากมีเปลี่ยนทิศ และไม่เผาไหม้ไปเสียแทบทั้งหมดในอากาศ คือยังตกสู่ผิวโลกเป็นส่วนใหญ่ พื้นที่ไหนโดน ไม่ต่างจากถูกนิวเคลียร์ถล่ม!

จอมนักวิทยาศาสตร์ หัวเราะก่อนตอบคำถามนี้อย่างใจเย็นด้วยน้ำเสียงเนิบนาบว่า...เบื้องต้น จากการคาดคำนวณของ ศูนย์เฝ้าระวังที่ทำงานในการตรวจสอบและเฝ้าระวังต่างๆ ที่มีความเสี่ยงจะพุ่งเข้าชนโลก จากทั่วโลก รวมทั้งนาซา คำนวณทิศทางการเดินทางของ เจ้าเศษชิ้นส่วนดังกล่าว ซึ่งในเวลานี้มีชื่อเรียกว่า WT1190F พบว่า หลังจากมันลุกไหม้ในอากาศแล้ว น่าจะร่วงลงสู่มหาสมุทรอินเดีย ช่วงบริเวณนอกชายฝั่งใกล้กับประเทศศรีลังกา ประมาณ​ 100 กิโลเมตร

ซึ่งก็ถือว่าเป็นโชคดีสำหรับชาวโลก ที่มันพุ่งลงทะเลไป แต่...อาจารย์ชัยวัฒน์ นิ่งสักครู่ ก่อนกล่าวประโยคต่อไปว่า...จนถึง ณ วินาทีนี้ ศูนย์เฝ้าระวังต่างๆ โดยเฉพาะนาซา ยังคงจับตาไอ้เจ้า WT1190F นี้อย่างใกล้ชิด และภาวนาว่าอย่าให้มีสิ่งใดไปทำให้มันเกิดเปลี่ยนแปลงวิถีการพุ่งเข้าสู่โลก จากเดิมที่มันควรจะพุ่งลงไปในทะเล แล้วไปลงยังสถานที่สำคัญ หรือแหล่งชุมชนต่างๆ เลย

ศุกร์ 13
มุมมองจากนอกโลก

นั่นเป็นเพราะอิทธิฤทธิ์ของไอ้เจ้า WT1190F นี้ หากมันเกิดเปลี่ยนทิศ แล้วไปตกยังแหล่งชุมชน หรือสถานที่สำคัญใดๆ บนแผ่นดินโดยที่ยังเหลือรอดจากการเผาไหม้ในอากาศเป็นส่วนใหญ่ ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่นั้นๆ จะไม่ต่างหรือรุนแรงกว่าถูกอาวุธนิวเคลียร์โจมตี! เพราะทั้งขนาดที่ใหญ่ทีเดียว และความเร็วที่ตกลงสู่โลก ประเมินแล้วไม่น่าจะต่างจากอุกกาบาต หรือดาวเคราะห์น้อยขนาดย่อมๆ พุ่งเข้าใส่โลกนัก

และถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ มีหวัง นาซา ได้กลายเป็นจำเลยสังคมให้ชาวโลกรุมประณาม รวมทั้งต้องไปรับผิดชอบ (ชดใช้) ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากเจ้า WT1190F อีกด้วย แต่เอาเถอะ...นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้อง ทิ้งเสียงให้ชวนสงสัยอีกแล้ว...

อย่าตื่นตระหนก เชื่อ นาซามีไม้ตายรับมือ หากจวนตัว

อาจารย์ชัยวัฒน์ เล่าให้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ฟังต่อไปว่า หาก นาซา ถึงคราวต้องโชคร้ายไปด้วยฤทธิ์ของวัน ศุกร์ 13 บังเอิญให้เกิดเซอร์ไพรส์ มีปัจจัยอะไรก็ตามไปทำให้ไอ้เจ้าเศษซากจรวด ส่งยานไปสำรวจดวงจันทร์ที่เคยสร้างชื่อให้ นาซา ดังก้องโลก เกิดเหลือเป็นชิ้นส่วนใหญ่รอดจากการเผาไหม้ในอากาศ และเปลี่ยนแปลงวิถีพุ่งเข้าชนโลก แถมยังอาจมีแนวโน้มจะลงไปชนแหล่งชุมชน หรือ สถานที่สำคัญใดๆ ขึ้นมาจริงๆ ส่วนตัวก็เชื่อว่า นาซา น่าจะมีหนทาง ที่จะแก้ไขไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมแก่ชาวโลก จนประวัติอันโด่งดังของตัวเองต้องด่างพร้อยแน่นอน อาจารย์กล่าวทิ้งท้ายด้วยความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม

มันมีวิธีแบบนั้นด้วยหรือ? ทีมข่าวชิงถาม ด้วยความงุนงง

มีสิ! อาจารย์ชัยวัฒน์ ตอบอย่างอารมณ์ดี ทำไมจะไม่มีล่ะ? เหตุผลก็เพราะ ประการแรก เจ้า WT1190F นี้ ถูกพบและติดตามเส้นทางของมันมาตั้งแต่แรกแล้ว โดยครั้งแรกที่พบและคาดว่ามันอาจจะพุ่งเข้าใส่โลก คือ ตั้งแต่ปี ค.ศ.2009 ต่อมาก็ตรวจพบอีกในปี ค.ศ.2012, 2013 และตรวจพบครั้งล่าสุด เมื่อต้นเดือนตุลาคม ค.ศ.2015 นี้เอง เพราะฉะนั้น การคำนวณวิถีการพุ่งเข้าชนโลกของมัน จึงไม่น่ามีความผิดพลาดไปจากที่คาดการณ์เอาไว้ ว่ามันควรจะตกลงไปในมหาสมุทรอินเดีย

ประการที่สอง กระบวนการ หรือแนวคิดต่างๆ สำหรับป้องกันภัยในกรณีมีวัตถุ หรือดาวเคราะห์น้อยพุ่งเข้าชนโลก จนทำให้สรรพสิ่งดับสูญไปจากโลกสีน้ำเงิน เช่นในยุคไดโนเสาร์ เมื่อหลายล้านปีก่อนนั้น ในปัจจุบันวงการวิทยาศาสตร์ ได้มีการคิดค้นและพัฒนาวิธีการต่างๆ เอาไว้มากพอสมควร แถมยังมีความคืบหน้าที่จะสามารถทำได้จริง แล้วในหลายโครงการด้วย

ศุกร์ 13

เปิดสารพัดวิธีสกัดวัตถุพุ่งชนโลก วิธีไหนป้องกันได้ชัวร์สุด

ถ้างั้น วิธีการที่ว่าจะเหมือนในหนังไซไฟต่างๆ ที่ฮอลลีวูดเคยจินตนาการ มาให้เราชมกันไหม?

ก็คล้ายๆ นะ อาจารย์ชัยวัฒน์ หัวเราะอย่างอารมณ์ดี ก่อนเล่าให้ฟังต่อว่า วิธีการต่างๆ ที่ถูกคิดค้นมา ก็มีตั้งแต่

วิธีที่ 1 การใช้แสงเลเซอร์ ยิงเข้าใส่! อาจารย์ชัยวัฒน์ กล่าวด้วยน้ำเสียงเปื้อนยิ้ม ก่อนเล่าให้ฟังต่อไปว่า ดูเผินๆ เหมือนหนังวิทยาศาสตร์​นะ แต่ปัจจุบัน เท่าที่ส่วนตัวประเมินแล้ว คาดว่าเทคโนโลยีสำหรับการพัฒนาอาวุธเลเซอร์นี้ น่าจะมีความก้าวหน้าไปแล้วประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะต้องไม่ลืมนะว่า การริเริ่มวิธีการนี้ มีต้นทางมาตั้งแต่ประมาณ ยุค 80 ตามแผนโครงการสตาร์วอร์ส ของอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ที่มุ่งสร้างสถานีรบในอวกาศติดอาวุธเลเซอร์นอกโลก เพื่อสกัดภัยคุกคามที่สหรัฐฯ จะถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธยิงข้ามอวกาศของสหภาพโซเวียตเดิม แต่...อาวุธเลเซอร์ สำหรับการป้องกันในกรณีนี้ จะไม่ใช่การยิงเข้าใส่เพื่อทำลาย แต่จะเป็นการยิงเข้าใส่บริเวณด้านหางของวัตถุใดๆ ที่จะพุ่งเข้าใส่โลก ให้เกิดการจุดระเบิด หรือติดจรวดเพื่อเปลี่ยนทิศทางโคจรไปยังที่ปลอดภัย

วิธีที่ 2 อันนี้มีความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติมากกว่าวิธีการแรก เพราะรัสเซีย เคยประสบความสำเร็จในการทดลองมาแล้ว นั่นก็คือ การนำแผ่นพลาสติกพับขึ้นไปกางในอวกาศ เพื่อเป็นกระจกสะท้อนแสงอาทิตย์ไปยังเป้าหมาย เพื่อนำไปใช้เปลี่ยนวิถีการโคจร เช่นเดียวกับวิธีแรกนั่นเอง เพียงแต่ในกรณีนี้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ แต่อาจต้องใช้ระยะเวลานานเลยทีเดียว กว่าจะทำให้เป้าหมายเปลี่ยนทิศทาง ซึ่งทำให้เหมาะกับในกรณีที่ว่า โลกของเราสามารถตรวจพบวัตถุอันตรายได้ ก่อนหน้าที่จะพุ่งเข้าชนโลกอย่างน้อย 1 หรือ 2 ปีขึ้นไป

ศุกร์ 13
รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล

วิธีที่ 3 ในกรณีที่เป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ พุ่งเข้าใส่โลก ก็จะมีวิธีเหมือนในภาพยนตร์ Armageddon อันโด่งดังในอดีต คือ นำยานอวกาศที่มีความเร็วสูงขับไปลงจอด แล้วฝังระเบิดที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงลงไป เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนวิถีการพุ่งเข้าสู่โลกของมัน ซึ่งวิธีการนี้ มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติสูงอีกเช่นกัน เพราะ เทคโนโลยีของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ก้าวหน้าถึงขนาดสร้างยานอวกาศ ที่มีความเร็วพอสำหรับไล่ติดตาม และลงจอดบนดาวเคราะห์น้อยได้แล้ว

วิธีที่ 4 วิธีนี้ฟังเผินๆ เหมือนไม่น่าจะเป็นไปได้ นั่นก็คือ การไปลากจูงเอาดาวเคราะห์น้อยขนาดไม่ใหญ่มากนัก มาชนเข้ากับเป้าหมาย เพื่อให้เปลี่ยนทิศทางการโคจรออกไปจากโลก อาจารย์ชัยวัฒน์ กล่าวด้วยน้ำเสียงเจือหัวเราะอีกครั้ง ก่อนกล่าวต่อไปว่า แต่...ใครจะเชื่อว่า วิธีนี้ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ ณ ปัจจุบัน มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากที่สุดอีกวิธีหนึ่ง นั่นก็เพราะปัจจุบัน เทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา พัฒนาถึงขั้นส่งยานอวกาศไปลงบนดาวเคราะห์น้อยได้แล้ว

และวิธีที่ 5 ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่า หากจะนำมาใช้ก็คงต่อเมื่อมนุษย์โลกจวนตัวเต็มที ในระดับรู้ตัวล่วงหน้าว่าจะถูกชนเพียงไม่กี่วัน หรือ สัปดาห์ นั่นก็คือการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ ยิงเข้าใส่วัตถุที่จะสร้างความเสียหายให้กับโลก เพราะวิธีนี้มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากการยิงระเบิดนิวเคลียร์เข้าใส่ตรงๆ อาจจะทำให้สิ่งที่จะพุ่งเข้าใส่โลก โดยเฉพาะหากเป็นดาวเคราะห์น้อย หรืออุกกาบาตที่มีขนาดใหญ่ แตกเป็นเสี่ยงได้ก็จริง แต่เศษชิ้นส่วนของมัน ก็อาจจะยังคงพุ่งเข้าใส่โลก และสร้างความเสียหายได้เช่นเดิม

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากวิธีการต่างๆ ที่ว่านี้แล้ว หากเจ้าเศษชิ้นส่วน WT1190F ของนาซา เจ้ากรรมนี้ เกิดไปมีอะไรพุ่งเข้าชน แล้วเปลี่ยนทิศทางและมีทีท่าว่าจะไปตกในสถานที่ที่ไม่ปลอดภัยต่อมนุษย์ ในวันนี้ ศุกร์ 13 ก็คงมีวิธีการเดียวที่จะสกัดมันได้ คือ การยิงจรวดนิวเคลียร์เข้าใส่เพื่อทำลายมันก่อนที่จะตกลงสู่โลกเท่านั้น

ศุกร์ 13
แสงสีฟ้าที่สะท้อนออกมาดูสวยงามมาก

สำหรับเหตุการณ์ลุ้นระทึก ที่จะเกิดขึ้นใน ศุกร์ 13 นี้ให้อะไรกับวงการวิทยาศาสตร์

จอมนักวิทยาศาสตร์ไทย ครุ่นคิดสักครู่ ก่อนตอบอย่างหนักแน่นว่า ก็ทำให้โลกรู้ได้ว่า เจ้าวัตถุอันตรายในอวกาศนั้น มันสามารถพุ่งลงมาตกใส่โลกได้จริง เหมือนดังเช่นที่ เมื่อประมาณ​ 65 ล้านปีก่อน มีดาวเคราะห์น้อยขนาด 10 กิโลเมตร พุ่งเข้าชนโลก จนทำให้ไดโนเสาร์สิ้นเผ่าพันธ์ุมาแล้ว! และทฤษฎีนี้ก็ได้รับการยืนยันในข้อเท็จจริงมาแล้วด้วย เมื่อไปพบหลักฐานที่ปรากฏเป็นร่องรอยหลุมอุกกาบาตใต้ดิน ที่มีขนาดปากหลุมกว้างถึง 200 กิโลเมตร ซึ่งครึ่งหนึ่งอยู่ที่ใต้เมืองชิคซูลูบ อีกครึ่งหนึ่งอยู่ในอ่าวเม็กซิโก ในปัจจุบัน

ท้ายที่สุด อาจารย์ชัยวัฒน์ ขอกล่าวทิ้งท้ายในแบบฉบับของนักวิทยาศาสตร์ ให้ได้คิดว่า...ในอนาคตอันใกล้นี้ อวกาศจะเป็นพรมแดนใหม่ของมนุษย์ เพราะมนุษย์จะไปอยู่อาศัยกันจริงๆ และเป็นจำนวนมากขึ้นๆ แล้วการที่มนุษย์จะไปอยู่ในอวกาศได้นั้น ทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตจะไปหามาจากไหนได้ เพราะหากนำขึ้นไปจากโลก จะต้องใช้ต้นทุนอย่างมหาศาล เพราะฉะนั้น ง่ายสุดก็คือไปเอาจากดวงจันทร์ และดาวเคราะห์น้อย ซึ่งเต็มไปด้วยทรัพยากรนานาชนิด ไม่ต่างอะไรจากเหมืองลอยได้ในอวกาศ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์​ อาจมีส่วนช่วยให้มนุษย์โลกสามารถดำรงเผ่าพันธ์ุของตัวเองได้ต่อไป โดยไม่แตกดับไปเหมือนดังเช่นไดโนเสาร์ ที่พ่ายแพ้ให้กับดาวเคราะห์น้อยจากนอกโลก


อ่านเพิ่มเติมได้ที่
http://www.thairath.co.th/content/538719

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น