รูปที่ผ่านการปรับแต่งสีแล้วของดาวพลูโตถ่ายโดยกล้องบนยาน นิว โฮไรซอน ที่ระยะห่าง 766,000 กม. จากพื้นผิวดาว (ภาพ: AP/NASA) |
นาซาถ่ายทอดสดวินาทีประวัติศาสตร์ ที่ยานอวกาศ นิว โฮไรซอน เดินทางผ่านดาวเคราะห์แคระ พลูโต เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 14 ก.ค. หลังจากใช้เวลาเดินทางนานกว่า 9 ปี เป็นระยะทางไกลกว่า 3 พันล้านไมล์...
เมื่อวันอังคารที่ 14 ก.ค. องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา ได้ถ่ายทอดสดผ่านช่อง นาซา ทีวี บนเว็บไซต์ยูทูบ แสดงวินาทีประวัติศาสตร์ที่ยานอวกาศ 'นิว โฮไรซอน' (ขอบฟ้าใหม่) ของพวกเขาสำเร็จภารกิจในการบินผ่านดาวเคราะห์แคระ 'พลูโต' เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ รวมทั้งถ่ายภาพดาวพลูโตจากระยะที่ใกล้ที่สุดส่งกลับมายังโลกได้ด้วย
ยานอวกาศไร้คนขับขนาดเท่าเปียโนลำนี้ เดินทางผ่านดาวพลูโตในระยะที่ใกล้ที่สุดเมื่อวันอังคาร เวลาประมาณ 7:49 น. ตามมาตรฐานเขตกลางวันตะวันออก (EDT) หรือประมาณ 18:49 น. วันเดียวกันตามเวลาไทย โดยนาซาคาดว่าในเวลานั้นยาน นิว โฮไรซอน จะเคลื่อนตัวด้วยความเร็วเกือบ 31,000 ไมล์ต่อชั่วโมง (ราว 49,900 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และห่างจากดาวพลูโตประมาณ 7,750 ไมล์ (ราว 12,500 กิโลเมตร)
คาดว่านาซาจะเปิดเผยภาพดาวพลูโตในระยะที่ใกล้ที่สุดทางออนไลน์และสถานีโทรทัศน์ของนาซา ในวันพุธเวลาประมาณ 15:00 น. ตามมาตรฐานเขตกลางวันตะวันออก (EDT) หรือประมาณ 2:00 น. วันพฤหัสบดีตามเวลาไทย เนื่องจากสัญญาณภาพใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงในการเดินทางจากยาน นิว โฮไรซอน ถึงโลก และนาซาต้องใช้เวลาในการประมวลผลอีกระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของดาวพลูโตที่ยาน นิว โฮไรซอน รวบรวมและส่งมาก่อนหน้านี้ ก็ได้ทำให้เกิดข้อถกเถียงในหมู่นักวิทยาศาสตร์แล้ว โดยพวกเขาพบว่า ดาวพลูโตมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1,473 ไมล์ (ราว 2,370 กิโลเมตร) ใหญ่กว่าที่เคยเชื่อในอดีต และหมายความว่า ดาวพลูโตใหญ่กว่าวัตถุนอกวงโคจรของดาวเนปจูน ทั้งหมดที่พบจนถึงตอนนี้
นอกจากนี้ ยาน นิว โฮไรซอน ยังส่งรูปภาพของ 'ชารอน' ดวงจันทร์มีขนาดใหญ่ที่สุดในทั้งหมด 5 ดวงของดาวพลูโตกลับมาด้วย
ภาพดาวพลูโต (ขวา) และดวงจันทร์ ชารอน จากระยะห่างประมาณ 6 ล้านกิโลเมตร ได้รับการเผยแพร่โดยนาซาเมื่อวันที่ 8 ก.ค. (ภาพ: REUTERS/NASA) |
ทั้งนี้ การสำเร็จภารกิจซึ่งนาซาเรียกว่า การสำรวจระบบสุริยะจักรวาลดั้งเดิม ทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศแรกที่ส่งยานอวกาศเคลื่อนตัวผ่านดาวเคราะห์ตั้งแต่ดาวพุธจนถึงดาวพลูโตได้ครบทุกดวง ทั้งยังเป็นการฉลองครบรอบ 50 ปี หลังจากยาน มาริเนอร์ 4 เดินทางผ่านดาวอังคารเป็นครั้งแรกด้วย
ภารกิจ นิว โฮไรซอน มีเป้าหมายเพื่อทำแผนที่พื้นผิวของดาวพลูโตและดวงจันทร์ชารอน รวมทั้งศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวทั้ง 2 ดวงด้วย โดยนิว โฮไรซอน เดินทางจากโลกในวันที่ 19 ม.ค. 2006 เพียงไม่กี่เดือนก่อนที่ดาวพลูโตจะถูกลดชั้นจากดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาล ให้เป็นแค่ดาวเคราะห์แคระ
แบบจำลองของยาน นิว โฮไรซอน (ภาพ: AFP) |
ยาน นิว โฮไรซอน มีขนาดใกล้เคียงกับเปียโน มีความสูง 0.7 ม. ยาว 2.1 ม. และกว้าง 2.7 ม. น้ำหนัก 478 กก. เดินทางกว่า 3 พันล้านไมล์จนถึงดาวพลูโต แต่มันจะไม่โคจรรอบหรือลงจอดบนดาวเคราะห์แคระดวงนี้ แต่จะลอยลึกเข้าไปใน แถบไคเปอร์ (kuiper belt) อันเป็นวงแหวนนอกวงโคจรของดาวเนปจูนซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ประกอบด้วยก้อนน้ำแข็งมากมาย
CR : ไทยรัฐ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น